การพัฒนารูปแบบหลักสูตรรายวิชาการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย

วิชัย วงศ์สุวรรณ, สิริวรรณ ศรีพหล, กัญจนา ลินทรศิริกุล, ประมาณ เทพสงเคราะห์

Abstract


การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนารูปแบบหลักสูตรรายวิชาการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย 2) ทดลองใช้รูปแบบหลักสูตรรายวิชาการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และ 3) ประเมินคุณภาพรูปแบบหลักสูตรรายวิชาการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย การดำเนินงานวิจัยมีดังนี้ ขั้นที่ 1 การพัฒนารูปแบบหลักสูตรรายวิชาการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ โดยการสังเคราะห์รูปแบบการพัฒนาหลักสูตรของนักพัฒนาหลักสูตรชาวไทยและชาวต่างประเทศ ขั้นที่ 2 การทดลองใช้รูปแบบหลักสูตร กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยสมบูรณ์กุลกันยา จังหวัดสงขลา ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2554 จำนวน 31 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) แผนการจัดการเรียนรู้รายวิชาการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ 2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 3) แบบวัดความสามารถในการแก้ปัญหา และ 4) แบบวัดความสามารถในการนำเที่ยว ประกอบด้วย ด้านกระบวนการจัดการนำเที่ยวและด้านความสามารถในการนำชมสถานที่ท่องเที่ยว ขั้นที่ 3 การประเมินคุณภาพรูปแบบหลักสูตร กลุ่มตัวอย่าง คือ ครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จังหวัดสงขลา จำนวน 10 คน คณะกรรมการสถานศึกษา จำนวน 3 คน และผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยสมบูรณ์กุลกันยา จำนวน 4 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบประเมินความเหมาะสมของหลักสูตร โดยนำผลการทดลองใช้หลักสูตรกับนักเรียน และจากการประเมินความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการนำหลักสูตรไปใช้ในสถานการณ์จริง สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที ผลการวิจัย พบว่า 1) รูปแบบการพัฒนาหลักสูตรรายวิชาการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ประกอบด้วย 7 ขั้น คือ (1) การวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน (2) การออกแบบหลักสูตร (3) การสร้างเอกสารประกอบหลักสูตร (4) การศึกษานำร่อง (5) การทดลองใช้หลักสูตร (6) การประเมินหลักสูตร และ (7) การปรับปรุงและแก้ไขหลักสูตร  โดยองค์ประกอบของรูปแบบหลักสูตรรายวิชาการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ประกอบด้วย จุดมุ่งหมาย เนื้อหาสาระ กิจกรรมการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล 2) ผลการทดลองใช้รูปแบบหลักสูตรรายวิชา การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ พบว่า (1) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และนักเรียนทุกคนมีคะแนนการสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนอยู่ในระดับร้อยละ 60 ขึ้นไป (2) ความสามารถในการแก้ปัญหาหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 (3) ความสามารถในการนำเที่ยว ประกอบด้วย ด้านกระบวนการจัดการนำเที่ยวอยู่ในระดับดี และระดับดีมาก ด้านความสามารถในการนำชมสถานที่ท่องเที่ยวอยู่ในระดับดี และดีมาก 3) ผลการประเมินคุณภาพรูปแบบหลักสูตร พบว่า หลักสูตรรายวิชาการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์มีความเหมาะสม และความเป็นไปได้ใน การนำไปใช้ในสถานการณ์จริง มีคุณภาพเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดคำสำคัญ : รูปแบบหลักสูตร รายวิชาการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ มัธยมศึกษาตอนปลาย

Full Text: PDF

Refbacks

  • There are currently no refbacks.