สิ่งเร้าความเครียด ความเครียด และการเผชิญความเครียดของผู้ป่วยนอก ขณะรอผ่าตัดเล็ก ณ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์

ลักขณา วานิยะพันธุ์, รัดใจ เวชประสิทธิ์

Abstract


 การวิจัยเชิงบรรยายครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสิ่งเร้าความเครียด ความเครียด และวิธีการเผชิญความเครียดของผู้ป่วยนอกขณะรอผ่าตัดเล็ก โดยใช้ทฤษฎีความเครียดของลาซาลัสและโฟลค์แมนเป็นกรอบแนวคิด กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยนอกขณะรอผ่าตัดเล็กที่มารับบริการที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ซึ่งได้รับการคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง ระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนกรกฎาคม 2553 จำนวน 280 ราย เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามสิ่งเร้าความเครียด ระดับความเครียด และวิธีการเผชิญความเครียด ซึ่งผ่านการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 ท่าน และตรวจสอบได้ค่าความเที่ยงของแบบสอบถามสิ่งเร้าความเครียดและระดับความเครียด เท่ากับ 0.90 และของแบบสอบถามวิธีการเผชิญความเครียด เท่ากับ 0.86
 ผลการวิจัยพบว่า ขณะรอการผ่าตัดเล็ก สิ่งเร้าความเครียดที่ทำให้กลุ่มตัวอย่างเกิดความเครียด 10 อันดับแรก ส่วนใหญ่เป็นสิ่งเร้าความเครียดด้านจิตสังคม ซึ่งก่อให้เกิดความเครียดในระดับปานกลางถึงระดับมาก โดยสิ่งเร้าความเครียดที่ก่อให้เกิดความเครียดมากที่สุด คือ ความกลัวว่าผลการตรวจชิ้นเนื้อจะเป็นเนื้อร้าย (X=2.64, S.D.=1.13) กลุ่มตัวอย่างประเมินว่าโดยรวมแล้ว สิ่งเร้าความเครียดก่อให้เกิดความเครียดในระดับมาก (X=2.04, S..D.=0.46) โดยสิ่งเร้าความเครียดด้านกายภาพก่อให้เกิดความเครียดในระดับปานกลาง (X=1.86, S.D.=0.49) ส่วนสิ่งเร้าความเครียดด้านจิตสังคมก่อให้เกิดความเครียดในระดับมาก (X=2.27, S.D.=0.57) วิธีการเผชิญความเครียดที่กลุ่มตัวอย่างเลือกใช้บ่อยๆ 10 อันดับแรก มีทั้งวิธีการจัดการกับอารมณ์ร่วมกัน และมีการใช้ในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน โดยวิธีการที่กลุ่มตัวอย่างใช้บ่อยที่สุด คือ การบอกเล่าความรู้สึกหรืออาการกับคนในครอบครัวหรือผู้ดูแล (X=3.22, S.D.=0.89) และผลการศึกษาสามารถนำไปใช้เพื่อบรรเทาความเครียดและส่งเสริมให้ผู้ป่วยนอก ขณะรอผ่าตัดเล็กให้เลือกใช้วิธีการเผชิญความเครียดที่เหมาะสม อย่างเป็นรูปธรรม และมีประสิทธิภาพต่อไป
คำสำคัญ: สิ่งเร้าความเครียด ความเครียด การเผชิญความเครียด การรอผ่าตัดเล็ก

Full Text: PDF

Refbacks

  • There are currently no refbacks.