ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อคุณภาพชีวิตในผู้หญิงที่ได้รับการล้างไตทางช่องท้องแบบต่อเนื่อง

ประพัฒน์สินี ประไพวงษ์, อรวมน ศรียุกตศุทธ, กุสุมา ณ อยุธยา กุสุมา ณ อยุธยา, นพพร ว่องสิริมาศ

Abstract


การวิจัยนี้เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อคุณภาพชีวิตในผู้หญิงที่ได้รับการล้างไตทางช่องท้องแบบต่อเนื่อง ได้แก่ อายุ การทำหน้าที่ทางเพศ  ภาวะซึมเศร้า และความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส โดยใช้กรอบแนวคิดคุณภาพชีวิตของ Zhan (1992) กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยหญิงไตวายจำนวน 100 รายที่ได้รับการล้างไตทางช่องท้องแบบต่อเนื่อง และรับการรักษาที่โรงพยาบาลบ้านแพ้ว สาขาพร้อมมิตรและสาขาธนบุรี คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบสะดวกจากผู้ป่วยหญิงอายุ 18 ปีขึ้นไป มีสามีหรือคู่นอนและอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างน้อย 4 สัปดาห์ รับการล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 3 เดือน ค่าความเพียงพอของการล้างไตอยู่ในเกณฑ์ปกติ รู้สึกตัวดี ไม่มีความผิดปกติด้านการรับรู้ เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณา และสถิติถดถอยเชิงพหุ
ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างอายุ 25-81 ปี (M=55.74, S.D.=11.08) ค่าเฉลี่ยตัวแปรการทำหน้าที่ทางเพศโดยอยู่ในระดับต่ำ (M=9.79, S.D.=8.10) ภาวะซึมเศร้าอยู่ในระดับปกติ (M=15.62, SD=6.65) ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรสอยู่ในระดับปานกลาง (M=96.57, S.D.=17.51) และคุณภาพชีวิตโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง (M=81.83, S.D.=11.43) วิเคราะห์ความถดถอยเชิงพหุ พบว่าตัวแปรอิสระทั้งหมดร่วมกันอธิบายความผันแปรคุณภาพชีวิตของกลุ่มตัวอย่างได้ร้อยละ 26.0 (R2 =.260, F(4,95)=8.326) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=.000) โดยพบว่า ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อคุณภาพชีวิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ ภาวะซึมเศร้า ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส และการทำหน้าที่ทางเพศ (b=-.295, b=.275 และ b=.203, p<.05 ตามลำดับ)
คำสำคัญ : การล้างไตทางช่องท้องแบบต่อเนื่อง คุณภาพชีวิต การทำหน้าที่ทางเพศ

Full Text: PDF

Refbacks

  • There are currently no refbacks.