การสร้างและหาประสิทธิภาพเครื่องอบแห้งข้าวเกรียบปลา

สมเกียรติ สุทธิยาพิวัฒน์

Abstract


การวิจัย เรื่อง การสร้างและหาประสิทธิภาพเครื่องอบแห้งข้าวเกรียบปลา เป็นการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครื่องอบแห้งข้าวเกรียบปลา และหาประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องอบแห้งข้าวเกรียบปลา การดำเนินการวิจัย มี 2 ตอน คือ ตอนที่ 1 การสร้างและพัฒนาเครื่อง ตอนที่ 2 การหาประสิทธิภาพของเครื่องอบแห้งข้าวเกรียบปลา กลุ่มตัวอย่างเลือกแบบเฉพาะเจาะจง คือ ผู้ประกอบอาชีพการทำข้าวเกรียบปลาชุมชนกาแลตาแป อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส จำนวน 36 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน ประสิทธิภาพของเครื่องอบแห้งข้าวเกรียบปลา เป็นแบบสอบถาม มี 4 ด้าน คือ ด้านวัสดุที่ใช้ในการสร้างเครื่องอบแห้ง ด้านความสะดวกในการใช้งาน ด้านประสิทธิภาพการทำงาน และคู่มือการใช้งาน วิเคราะห์ข้อมูลโดย การหาค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน

ผลการวิจัยพบว่า เครื่องอบแห้งข้าวเกรียบปลามีขนาดความกว้าง 100 เซนติเมตร ความสูง 70 เซนติเมตร และความลึก 70 เซนติเมตร มีถาดสำหรับวางแผ่นข้าวเกรียบปลา จำนวน 2 ชั้น ใช้ฮีตเตอร์อินฟราเรด ขนาด 500 วัตต์ เป็นอุปกรณ์ต้นกำเนิดความร้อนภายใน และมีพัดลมช่วยกระจายความร้อนให้ทั่วภายใน จากการศึกษาครั้งนี้พบว่า ข้าวเกรียบปลาที่มีส่วนผสมของปลาทูและปลาหลังเขียว ถูกทำให้แห้งโดยเครื่องอบแห้งข้าวเกรียบปลาที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส และใช้เวลาในการอบแห้งเฉลี่ย 33.7 นาที โดยมีความชื้นภายในข้าวเกรียบปลา มีค่าเฉลี่ย 15.6 เปอร์เซนต์ มีความพึงพอใจต่อเครื่องอบแห้งข้าวเกรียบปลาสูงสุด คือด้านประสิทธิภาพการใช้งานเครื่องอบข้าวเกรียบปลา (x=4.70, S.D. =.552) รองลงมาคือด้านวัสดุที่ใช้ในการสร้างเครื่องอบข้าวเกรียบปลา (x=4.73, S.D. = .465) ด้านความสะดวกในการใช้งานเครื่องอบแห้งข้าวเกรียบปลา (x=4.60, S.D. = .355) และด้านคู่มือการใช้งานเครื่องอบแห้งข้าวเกรียบปลา (x=4.43, S.D. = .385) ผลของการวิจัยสรุปได้ว่า เครื่องอบแห้งที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องด้านอุณหภูมิ และเวลา ในการอบอยู่ในเกณฑ์ดีเหมาะที่จะใช้สำหรับผู้ประกอบการอบแห้งข้าวเกรียบปลา

คำสำคัญ :  เครื่องอบแห้งข้าวเกรียบปลา  การหาประสิทธิภาพ  ข้าวเกรียบปลา


Full Text: PDF

Refbacks

  • There are currently no refbacks.