คุณภาพชีวิตของทารกเกิดก่อนกำหนดมุสลิมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ของประเทศไทย
Abstract
การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนาแบบสำรวจ เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตของทารกเกิดก่อนกำหนดมุสลิมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ของประเทศไทย กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ดูแลและทารกเกิดก่อนกำหนด อายุ 1 - 12 เดือน ที่มารับบริการสุขภาพที่คลินิกสุขภาพเด็กดี โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ โรงพยาบาลปัตตานี และโรงพยาบาลศูนย์ยะลา จำนวน 118 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามที่พัฒนาโดยนักวิจัย คือ (1) แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ดูแลและทารกเกิดก่อนกำหนด (2) แบบประเมินความสมบูรณ์แข็งแรงของทารกเกิดก่อนกำหนด ประกอบด้วย น้ำหนักตัว ความยาว ระดับพัฒนาการ และประวัติการเจ็บป่วยหลังออกจากโรงพยาบาลของทารกเกิดก่อนกำหนด และ (3) แบบสอบถามคุณภาพชีวิตทารกเกิดก่อนกำหนด โดยแบบสอบถามนี้มีค่าดัชนีความตรงเชิงเนื้อหาเท่ากับ .80 และค่าความเชื่อมั่นของสัมประสิทธิ์อัลฟาครอนบาคเท่ากับ .88 มีการวิเคราะห์ข้อมูลโดยสถิติพรรณนา
ผลการวิจัยมีดังนี้ (1) ผู้ดูแลมีระดับการศึกษาอยู่ระดับมัธยมศึกษามากที่สุด (ร้อยละ 32.2) ส่วนมากมีรายได้ต่อเดือน 10,000 บาทหรือน้อยกว่า (ร้อยละ 81.5) และมีประสบการณ์การเลี้ยงทารกมาก่อน (ร้อยละ 76.3) ทารกเกิดก่อนกำหนดส่วนใหญ่มีอายุครรภ์เฉลี่ย 33.04 สัปดาห์ น้ำหนักแรกเกิดเฉลี่ย 1,905 กรัม และมีความยาวเฉลี่ย 37.59 เซนติเมตร (2) ความสมบูรณ์แข็งแรงของทารกเกิดก่อนกำหนดมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 8.19 (S.D. = 1.36) และส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดี (ร้อยละ 77.1) (3) คุณภาพชีวิตทารกเกิดก่อนกำหนดมุสลิมมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 33.0 (S.D. = 3.05) และส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ที่ดี (ร้อยละ 54.2) ผลการวิจัยครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า บุคลากรด้านสุขภาพควรใช้ข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้ในการจัดกิจกรรมหรือโครงการ เพื่อส่งเสริมความรู้ของผู้ดูแลในการตอบสนองความต้องการของทารกเกิดก่อนกำหนดเพื่อให้ทารกมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
คำสำคัญ : คุณภาพชีวิต, ทารกเกิดก่อนกำหนดมุสลิม, ความสมบูรณ์แข็งแรง, พื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ของประเทศไทย
Refbacks
- There are currently no refbacks.