การพัฒนาในรอบปีและการเปลี่ยนแปลงของคาร์โบไฮเดรต ไนโตรเจน และฟอสฟอรัสในใบของมังคุดและลองกองที่จังหวัดนราธิวาส

จักรพงศ์ จิระแพทย์

Abstract


การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างฟีโนโลยีในรอบปีกับปริมาณคาร์โบไฮเดรต ธาตุไนโตรเจน และฟอสฟอรัสในใบไม้ผล 2 ชนิด คือ มังคุด และลองกอง ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนราธิวาส มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ระหว่างเดือนตุลาคม 2550-กันยายน 2551 โดยเก็บข้อมูลสภาพภูมิอากาศ การเจริญเติบโตในรอบปี และวิเคราะห์หาปริมาณไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และปริมาณคาร์โบไฮเดรตในใบ พบว่า พื้นที่ทดลองมีปริมาณน้ำฝนสะสมเท่ากับ 2,463.9 มิลลิเมตร การคายระเหยน้ำสะสมเท่ากับ 1,780 มิลลิเมตร และอุณหภูมิเฉลี่ยเท่ากับ 26.7 องศาเซลเซียส โดยฟีโนโลยีในรอบปี 2551 พบว่า มังคุดมีการแตกใบอ่อน 1 ครั้งช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ออกดอกช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์ และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในช่วงเดือนกรกฎาคม ส่วนลองกองมีการแตกใบอ่อน 2 ครั้ง คือ ตุลาคม-พฤศจิกายน 2550 และกันยายน-ตุลาคม 2551 ออกดอกในช่วงมีนาคม-เมษายน และเก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณกลางเดือนมิถุนายน เมื่อศึกษาปริมาณคาร์โบไฮเดรต ไนโตรเจน และฟอสฟอรัส พบว่า มังคุดมีปริมาณไนโตรเจนในใบค่อนข้างคงที่ตลอดระยะการเจริญเติบโต ขณะที่ลองกองมีปริมาณไนโตรเจนในใบเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในระยะแรกแล้วลดลงต่ำสุดช่วงเดือนมกราคม ก่อนจะเพิ่มขึ้นสูงสุดในระยะแตกตาดอกเดือนกุมภาพันธ์ สำหรับปริมาณคาร์โบไฮเดรตและ อัตราส่วนของคาร์โบไฮเดรตต่อไนโตรเจนที่พบในไม้ผลทั้ง 2 ชนิด มีค่าเพิ่มขึ้นในระยะแรกจนกระทั่งมีปริมาณคาร์โบไฮเดรตสูงสุดในช่วงการพัฒนาผลของมังคุด และระยะการแตกตาดอกของลองกอง ก่อนจะลดลงในช่วงปลายฤดูกาล ส่วนปริมาณฟอสฟอรัสพบว่า ทุกช่วงของการเจริญเติบโตจะมีการสะสมฟอสฟอรัสเพิ่มขึ้นและลดลงสลับกันไปตลอดฤดูกาล
คำสำคัญ : การพัฒนาในรอบปี ปริมาณคาร์โบไฮเดรต ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส ใบของมังคุดและลองกอง

Full Text: PDF

Refbacks

  • There are currently no refbacks.