ความสัมพันธ์ระหว่างความรู้สึกสอดคล้องกลมกลืนในชีวิตกับความเครียดในการปฏิบัติงานของทหารในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีกลวิธีการเผชิญปัญหา เป็นตัวแปรส่งผ่าน

ไหมไทย ไชยพันธุ์, ณัฐสุดา เต้พันธ์

Abstract


การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความรู้สึกสอดคล้องกลมกลืนในชีวิตกับความเครียดในการปฏิบัติงานของทหารในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีกลวิธีการเผชิญปัญหาเป็นตัวแปรส่งผ่าน กลุ่มตัวอย่าง คือ ข้าราชการทหารสังกัดหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส33 จำนวน 200 คน ผลการวิจัยพบว่า ความรู้สึกสอดคล้องกลมกลืนในชีวิตมีความสัมพันธ์ทางลบกับความเครียดในการปฏิบัติงานและกลวิธีการเผชิญปัญหาแบบหลีกหนีปัญหา แต่ในขณะเดียวกันความรู้สึกสอดคล้องกลมกลืนในชีวิตมีความสัมพันธ์ทางบวกกับกลวิธีการเผชิญปัญหาแบบมุ่งจัดการกับปัญหาและแบบการแสวงหาการสนับสนุนทางสังคม ในส่วนของกลวิธีการเผชิญปัญหาแบบมุ่งจัดการกับปัญหาและแบบการแสวงหาการสนับสนุนทางสังคมนั้น มีความสัมพันธ์ทางลบกับความเครียดในการปฏิบัติงาน และในขณะเดียวกันกลวิธีการเผชิญปัญหาแบบหลีกหนีกับปัญหามีความสัมพันธ์ทางบวกกับความเครียดในการปฏิบัติงาน นอกจากนี้ผลการวิเคราะห์ตัวแปรส่งผ่าน พบว่าความรู้สึกสอดคล้องกลมกลืนในชีวิตส่งผลโดยตรงต่อความเครียดในการปฏิบัติงาน ในระดับ - 0.35 และความรู้สึกสอดคล้องกลมกลืนในชีวิตส่งผลทางอ้อมผ่านกลวิธีการเผชิญปัญหาแบบมุ่งจัดการกับปัญหาไปยังความเครียดในการปฏิบัติงาน ในระดับ- 0.10 ตลอดจนความรู้สึกสอดคล้องกลมกลืนในชีวิตส่งผลทางอ้อมผ่านกลวิธีการเผชิญปัญหาแบบหลีกหนีปัญหา ไปยังความเครียดในการปฏิบัติงาน ในระดับ - 0.14 รวมทั้งความรู้สึกสอดคล้องกลมกลืนในชีวิตส่งผลโดยรวมต่อความเครียดในการปฏิบัติงาน มีค่าเท่ากับ - 0.59, p < .001 ดังนั้นจึงสรุปได้ว่ากลวิธีการเผชิญปัญหาแบบมุ่งจัดการกับปัญหาและแบบหลีกหนีปัญหาเป็นตัวแปรส่งผ่านในความสัมพันธ์ระหว่างความรู้สึกสอดคล้องกลมกลืนในชีวิตกับความเครียดในการปฏิบัติงาน และกลวิธีแบบการแสวงหาการสนับสนุนทางสังคมไม่เป็นตัวแปรส่งผ่านในความสัมพันธ์ดังกล่าว

คำสำคัญ

ความรู้สึกสอดคล้องกลมกลืนในชีวิต ความเครียดในการปฏิบัติงาน ทหารในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลวิธีการเผชิญปัญหา ตัวแปรส่งผ่าน


Full Text: PDF

Refbacks

  • There are currently no refbacks.