ความพร้อมในการดูแล สัมพันธภาพในครอบครัว และความเครียดในบทบาทผู้ดูแลผู้ป่วยมุสลิมโรคหลอดเลือดสมอง

อรอนงค์ กูลณรงค์, เพลินพิศ ฐานิวัฒนานนท์, ลัพณา กิจรุ่งโรจน์

Abstract


 การวิจัยครั้งนี้เป็นวิจัยเชิงบรรยาย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับความพร้อมในการดูแล ระดับสัมพันธภาพในครอบครัว และระดับความเครียดในบทบาทผู้ดูแลผู้ป่วยมุสลิมโรคหลอดเลือดสมอง กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ดูแลหลักจำนวน 100 ราย ที่ทำหน้าที่ให้การดูแลผู้ป่วยที่บ้านอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ถึง 6 เดือน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบสอบถามความพร้อมในการดูแล สัมพันธภาพในครอบครัว และความเครียดในบทบาทผู้ดูแลซึ่งประกอบด้วย 3 ด้านได้แก่ ความขัดแย้งในบทบาท ความตึงเครียดในบทบาทเพิ่มขึ้น และการแสดงบทบาทไม่ตรงตามคาดหวัง ตรวจสอบความตรงด้านเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 5 ท่าน และความเที่ยงของเครื่องมือโดยคำนวณค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาครอนบาค ได้ค่าความเที่ยงเท่ากับ 0.87, 0.88, 0.92 และ 0.88 ตามลำดับ ส่วนแบบสอบถามการแสดงบทบาทไม่ตรงตามคาดหวัง ตรวจสอบความเที่ยงโดยคำนวณร้อยละของความสอดคล้องระหว่างคะแนนในการวัดสองครั้ง ได้ค่าความเที่ยงเท่ากับ
0.89 วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน
 ผลการศึกษาพบว่า ผู้ดูแลมีความพร้อมในการดูแลอยู่ในระดับปานกลาง (M = 2.57, S.D. = 0.62) สัมพันธภาพในครอบครัวอยู่ในระดับปานกลาง (M = 2.92, S.D. = 0.46) และความเครียดในบทบาทผู้ดูแลอยู่ในระดับปานกลาง (M = 2.08, S.D. = 0.54) ผลการศึกษาเพิ่มเติมพบว่า สัมพันธภาพในครอบครัวมีความสัมพันธ์ทางลบในระดับต่ำกับความเครียดในบทบาทผู้ดูแล (r = -.28, p < .01)
 ผลการศึกษาครั้งนี้ สามารถนำไปเป็นแนวทางส่งเสริมการเตรียมความพร้อมในการดูแลของผู้ดูแลหลักก่อนออกจากโรงพยาบาล เพื่อช่วยลดความเครียดในบทบาทผู้ดูแลผู้ป่วยมุสลิมโรคหลอดเลือดสมอง
  คำสำคัญ : ความพร้อมในการดูแล สัมพันธภาพในครอบครัว ความเครียดในบทบาทผู้ดูแล  ผู้ป่วยมุสลิมโรคหลอดเลือดสมอง

Full Text: PDF

Refbacks

  • There are currently no refbacks.